ทุ่มเทด้วยหัวใจ เมืองเลย ยูไนเต็ด โมเดลสู่ความยั่งยืน
  • 12 ธันวาคม 2018 at 17:50
  • 2372
  • 0

คุณรอคอยได้นานเท่าไหร่ 1 เดือน 1 ปี หรือนานกว่านั้น แต่มีสโมสรฟุตบอลเล็กๆ แห่งหนึ่งที่หว่านพืชหวังผลโดยใช้เวลานานกว่านั้นหลายเท่าเห็นจะได้ ด้วยวิสัยทัศน์ และลงมือทำด้วยความรัก และใส่ใจ และนี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราว “นักรบเซไล” เมืองเลย ยูไนเต็ด

 

Cr.KUNKAJON

12 ปีก่อนกลุ่มทุน วงการลูกหนังบ้านเราเริ่มตื่นตัวมากขึ้น ระบบลีกเริ่มขยายตัวสู่ภูมิภาค “นายกป๊อก” เลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ประธานสโมสรเมืองเลย ยูไนเต็ด เล่าความหลังให้ทีมงาน SPSTH ฟังว่าตนเลือกปฏิเสธที่จะทำ เลย ซิตี้ สโมสรชั้นนำในลีกรากหญ้ายุคแรก ที่ปัจจุบันด้วยปัจจัยด้านการเงิน และผลงานที่ย่ำแย่ในสนามแข่งขัน ฤดูกาล 2018 ที่ผ่านมา ก็เป็นฉากอำลาสุดท้ายของทีมร่วมเมืองในที่สุด

 

“ตอนนั้นมีกลุ่มคนเข้ามาชักชวนให้ไปร่วมทำ เลย ซิตี้ ซึ่งผมดูแล้ว โอเคมันมีอนาคต ระบบฟุตบอลอาชีพเกิดแน่ เพราะมันต้องตามรอยต่างประเทศ แต่ถ้าเราจะเริ่มด้วยการสมัครเข้าแข่ง แล้วไปหานักฟุตบอล ไปจ้างนักฟุตบอล ในรูปแบบนั้นมันดูแล้วไปไม่รอด เพราะว่ามันต้องใช้งบเยอะ และต้องไปรบกวนผู้สนับสนุนในท้องถิ่น ซึ่งความจริงเงินมันไม่ได้เยอะขนาดนั้น เลยคิดว่าคงไม่พร้อมที่จะร่วมทำในตอนนั้น ซึ่งเขาก็ไปทำกัน และกลายเป็น เลย ซิตี้ ซึ่งพวกเขาทำได้ดี มีชื่อเสียง แต่อย่างที่บอกมันไปได้ยาก เพราะต้องใช้งบประมาณที่เยอะ”

 

อย่างไรก็ตามการเลือกปฏิเสธในครานั้นไม่ได้หมายความว่าเขาจะหันหลังให้วงการลูกหนัง กลับกันมันเป็นตัวจุดประกาย เมื่อเล็งเห็นปัญหาอยู่ 2 ประการ คือ 1.อะคาเดมี่ 2.สนามแข่งขัน ซึ่งทำให้ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลวังสะพุง ในเวลานั้น จึงคิดว่าทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนด้วยการปั้นเด็ก สร้างคนเพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสโมสรอาชีพอย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิดที่ว่า โรงเรียนเทศบาล เป็น โรงเรียนของคนจนที่ผู้ปกครองมักไม่อยากส่งบุตรหลานมาเรียน นั่นทำให้ “นายกป๊อก” เปลี่ยนโรงเรียน ที่ใครๆ ก็หมางเมิน ให้เป็นรูปแบบโรงเรียนกีฬา โดยนำหลักสูตร และความรู้ต่างๆ มาจาก ชลบุรี อย่างไรก็ตาม โรงเรียนกีฬา กับ จ.เลย ในตอนนั้นถือว่ายังเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ

 

 

ประสบการณ์ครั้งแรกไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย เมื่อเด็กชุดแรกที่ตั้งความหวังเอาไว้ ผ่านเพียงไม่กี่สัปดาห์แรกก็แทบเหลือนับหัวได้ “นายกป๊อก” เล่ากับสื่อ SPSTH ว่า "เราเริ่มต้นอะคาเดมี่ตั้งแต่ตอนนั้น รับเด็กอายุ 10 ขวบ ป.4 รับมากินนอนที่โรงเรียนเลย ในรูปแบบโรงเรียนประจำ ซึ่งเป็นที่แรกในจังหวัดเลย และที่ 2 ในภาคอีสานในส่วนของโรงเรียนสังกัดท้องถิ่นคือเทศบาล (ที่แรกเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด) ส่วนสาเหตุที่เราต้องรับเด็ก 10 ขวบ เรามองว่าเราต้องการให้เด็กชนะโรงเรียนกีฬาจังหวัดขอนแก่นให้ได้"

 

"ที่นั่นรับเด็ก ม.1 คัดเด็กจากทั่วอีสาน เอาแค่ 10-20 คนเข้าเรียนหลักสูตรฟุตบอล ซึ่งการที่เราจะเอาชนะเขาได้ เราทำเริ่มแต่ ม.1 จะเป็นรอง ฉะนั้นเราจึงมีแนวคิดนำเด็กมาฝึกวินัย เริ่มต้นทั้งหมด ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ฝึกทักษะให้แน่น ยอมรับว่ายากมากในเวลานั้น เพราะ 10 ขวบเด็กมาก และผู้ปกครองมีความเป็นห่วง เพราะเด็กไม่เคยออกมาแยกจากทางบ้าน ทำให้ใน 3 สัปดาห์แรกเราตั้งใจไว้เลยว่าห้ามผู้ปกครองมาเยี่ยมเด็ดขาด แต่กลับเป็นว่าคุณครูใจอ่อน เพราะครูเราไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อทำหน้าที่ในโรงเรียนประจำ พอครูใจอ่อนให้ผู้ปกครองมาเยี่ยมเท่านั้นแหละ ห่างกันแค่อาทิตย์เดียวมาเยี่ยมต่างคนต่างร้องไห้อุ้มกันกลับบ้านเลยก็มี ปรากฎว่าผ่าน 3 อาทิตย์แรก จากเด็กในโครงการที่เรามีเหลือแค่ 16-17 คน"

 

กระนั่นความพยายามนั้นไม่ไร้ความหมาย เมื่อเด็กสร้างชุดแรกสุดชนะเลิศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้ที่ 3 ของประเทศในรายการฟุตบอลชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยที่จัดโดย กรมพละ เป็นรองเพียงกรุงเทพคริสเตียนและชลบุรี ที่ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้พวกเขาเดินหน้าสร้างบุคลากรกีฬาจากรุ่นสู่รุ่นสำเร็จ เช่นกันกับบุคลากรผู้ฝึกสอน ที่ “นายกป๊อก” ให้ความใส่ใจ ส่งเรียนเพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถแบบต่อเนื่อง ด้านสนามแข่งขัน ที่เป็นอีกประเด็นสำคัญที่เป็นรากฐานสำคัญในการทำสโมสรฟุตบอลอาชีพ ทางเทศบาลก็ได้รับงบจากกรมพละ ในการสร้างสนามกีฬากลาง อ.วังสะพุง ในช่วงปี 2557

 

 

เมื่อ เด็กชุดแรกเสริมกระดูกได้ที่จากประถม 4 ถึงระดับชั้นมัธยม 6 มันทำให้ “นายกป๊อก” ที่เตรียมปัจจัยพื้นฐานไว้ดีแล้ว คิดว่าถึงเวลาอันสมควรที่จะเริ่มต้นทำทีมฟุตบอลจริงจัง ด้วยการรวมเด็กที่มีศักยภาพจาก รร.เทศบาลวังสะพุง 1 และ 2 เสริมด้วยผู้เล่นวัยรุ่นฝีเท้าดีในพื้นที่ส่งทีม สโมสรฟุตบอลเทศบาลเมืองวังสะพุง เข้าร่วมแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานในที่สุด ปี 57 (รองแชมป์ถ้วย ง), ปี 58 (อันดับ 3 ถ้วย ค) และในปี 59 ที่เดิมทีมต้องส่งแข่งขันถ้วย ข เพื่อเลื่อนชั้นสู่ลีกอาชีพ

 

พอดีกับที่ทาง ส.บอล เปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันใหม่โดยการคัดขึ้นลีกอาชีพใช้เวทีที่ชื่อ ไทยแลนด์ อเมเจอร์ ลีก เป็นตัววัดผล แต่เวลานี้ สโมสรฟุตบอลเทศบาลเมืองวังสะพุง ที่บ่มเพาะตัวเองจนแข็งแกร่งไม่จำเป็นต้องกลัวใครเข้าป้ายแชมป์ไทยแลนด์ อเมเจอร์ ลีก โซนตะวันออกเฉียงหนือไปครอง นับเป็นการเลื่อนชั้น 3 ปีติดต่อกัน

 

ภายหลังจากขึ้นชั้นได้เดือนเศษ สโมสรฟุตบอลเทศบาลเมืองวังสะพุง ก็จัดการแปลงโฉมเสียใหม่เป็น เมืองเลย ยูไนเต็ด เพื่อพร้อมเดินหน้าในลีกอาชีพเต็มตัว ให้หลังจากจุดเริ่มต้นเมื่อ 10 ปี ก่อน นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองวังสะพุง เผยด้วยความภูมิใจว่า “ผมช้า แต่มั่นคง เรารอเวลาได้ เราใช้ทรัพยากรที่เรามี ค่อยๆ สร้างขึ้นมา เรามีความสุขไปกับมัน และเรารู้อยู่แล้วว่าวันหนึ่งเราสามารถก้าวสู่ทีมอาชีพได้ ด้วยความมั่นใจว่าเราเดินมาถูกทาง ซึ่งส่วนตัวมองว่าเราไปเร่งมันทั้งที่ยังไม่พร้อม เราไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ สุดท้ายเมื่อเราถอยไม่มีคนมาต่อ ทุกอย่างมันก็ถอยมันก็พังไป ปัจจุบันทีมสตาฟฟ์ นักกีฬา ของเราแทบทั้งหมดเป็นลูกหลานคน จ.เลย"

 

"พอมีทีมฟุตบอลอาชีพขึ้นมา มันทำให้เกิดวัฒนธรรม จากเดิมที่เราพอลืมตาอาปากจากการทำงาน บางคนค้าขายลอตเตอรี่ พวกเขาเหล่านี้หันมาสร้างความสุข มาพักผ่อนด้วยการชมกีฬา มันเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน และดึงให้ห่างจากยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาลำดับต้นของเด็กต่างจังหวัด ซึ่งทุกวันนี้ จ.เลย เราก็เริ่มมีภาพแบบนั้น มันเป็นความภาคภูมิใจที่ผลผลิตในเชิงกีฬาเราผลิดอกออกผลไปยังพี่น้องในพื้นที่”

 

 

ทุกวันนี้ต้นกล้าที่ “นายกป๊อก” ลงมือปลูกด้วยต้นเอง เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ และถึงเวลาที่เขาจะถอยฉาก และให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาสานงานต่อ โดยมี “บอสเอก” ณัฐกร พัฒนชัยกุล เป็นผู้นำ แม้ 2 ปีในลีกอาชีพทีมยังไม่อาจบรรลุเป้าหมายในการเลื่อนชั้นสำเร็จ แต่พวกเขาก็เฉียดใกล้เป้าหมายขึ้นในทุกปี และในฤดูกาล 2019 ที่กำลังจะมาถึงนี้ทีมยังคงมุ่งมั่นสู่เป้าหมายให้ได้ เชื่อเหลือเกินว่านี่อาจเป็น Third time luck และเป็นปีทองที่ “นักรบเซไล” เมืองเลย ยูไนเต็ด จะได้ขึ้นชั้นสักที