ด้วยรักจากหัวใจ สู่ปฐมบท วัดโบสถ์ ซิตี้

จากความรักในกีฬาลูกหนังของแฟนบอลชาวพิษณุโลก ที่เดิมที่พวกเขาเหล่านี้ต่างเป็นแฟนคลับเลือดข้นของ “ขุนพลนเรศวร” พิษณุโลก เอฟซี มาอย่างยาวนาน ด้วยความคลั่งไคล้เต็มขั้นจนถึงกระทั่งวันหนึ่ง วันที่พวกเขาหาตัวตั้งตัวตีในการลงมือสร้างทีมฟุตบอลจริงๆ จังๆ ขึ้น

โดยมีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อปลุกความคึกคักในหมู่กองเชียร์ระหว่างเบรกพักปิดฤดูกาล โดยที่เป้าหลักไม่ใช่การที่ต้องขึ้นสู่ไทยลีก 4 แต่อย่างใด

 

แล้วเราจะเอาชื่ออะไรกันดีหล่ะ? หนึ่งในกลุ่มผู้ก่อการโพร่งขึ้นกลางวง แฟนคลับเลือดข้นอีกนายหนึ่งแนะตอบว่าจุดประสงค์ในการสร้างทีมไม่ได้เกิดขึ้นจากความแตกแยกจึงอยากให้เลี่ยงชื่อ จ.พิษณุโลก เสีย และนั่นเป็นเหตุให้กลุ่มผู้ก่อการเห็นพ้องต้องกันในการใช้ชื่ออำเภอ ใน จ.พิษณุโลก แทน และอำเภอที่ว่าคือ อ.วัดโบสถ์ ซึ่งถือว่าเป็นอำเภอที่อยู่ใกล้ตัวเมืองที่สุดอำเภอหนึ่ง

 

คุณปิยะ ไกรทอง ที่ปรึกษาทีมวัดโบสถ์ ซิตี้ และในฐานะอดีตประธานแฟนคลับ “ขุนพลนเรศวร” ย้อนความให้สื่อ SPSTH ได้ทราบถึงจุดเริ่มต้นของสโมสรระดับอำเภอที่แทรกตัวขึ้นมาในพงศาวดารลูกหนังไทย

 

ผู้บริหารแบรนด์เสื้อผ้ากีฬา H2H SPORT DESIGN อธิบายขยายความต่อว่านอกจากเป็นชัยภูมิที่ดีเนื่องจากอยู่ใกล้ตัวเมืองแล้ว สาเหตุที่ใช้ชื่อ อ.วัดโบสถ์ ยังเป็นเพราะพื้นที่แห่งนี้คือแหล่งบ่มเพราะบรรดาคนลูกหนังให้เติบโตสู่ พิษณุโลก เอฟซี อย่างสม่ำเสมอ “อ.วัดโบสถ์เป็นอำเภอที่มีความผูกพันกับจังหวัดพิษณุโลกในเชิงประวัติศาสตร์ อีกทั้งที่นี่มีนักฟุตบอลขึ้นมาเล่นขึ้นมาเล่นในพิษณุโลก เอฟซี มากมาย และถือเป็นอำเภอที่ปั้นนักกีฬาเข้าสู่ทีมพิษณุโลกได้สม่ำเสมอ”

 

ด้วยทุกคนต่างมีประสบการณ์โชกโชน การก่อกำเนิดจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว จากแฟนคลับที่ร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้ละมือ ขยายต่อยอดสู่บรรดานักเตะเก่าในถิ่น “ขุนพลนเรศวร” และพื้นที่ใกล้เคียง ได้มารวมตัวกัน ที่ล้วนมาด้วยใจ แน่นอนหลังรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนพวกเขาหวังทะลุรอบแรกให้ได้เพียงเท่านั้น

 

คุณปิยะ เล่าต่อว่า “คือเป้าเราในวันแรกที่รวมจำได้แม่น เราต้องเข้ารอบเพลย์ออฟแบ่งกลุ่มให้ได้ ก็ตั้งเป้าไว้แค่นี้ก่อน” อย่างที่ทราบการเตรียมทีมฟุตบอลลุย อเมเจอร์ลีก ในบ้านเรากว่าครึ่งการเตรียมทีมจะออกมาแบบหลวมๆ เพราะต่างคน ต่างมีภาระ หน้าที่ รับผิดชอบแตกต่างกันไป และอาศัยเวลาว่างอันน้อยนิดในแต่ละสัปดาห์เพื่อฝึกซ้อมทำความเข้าใจ ซึ่ง วัดโบสถ์ ซิตี้ มีเวลา 1 วันต่อสัปดาห์ ในการปรับจูน อุ่นเครื่อง โดยมีเวลาราว 1 เดือนก่อนเริ่มแข่งขัน แต่ด้วยพื้นฐานบรรดาอดีตแข้งเก่า พิษณุโลก เอฟซี นั่นทำให้ไม่ต้องอาศัยเวลาปรับจูน ให้มากมายนัก"

 

ทว่าจากความมุ่งมั่นทุ่มเทของทุกๆ คนที่ร่วมด้วยช่วยกันแบบไม่มีปริปากบ่น สปิริตทีมที่เบ่งบานอย่างรวดเร็ว บวกกับทีมงานสตาฟฟ์ และนักเตะที่มีคุณภาพ ทำให้จากเป้าหมายเพียงแค่เข้าร่วม แต่ตอนนี้มาไกลจนถอนตัวไม่ได้ ในที่สุด “หนูนาจอมโหด” ก็กรุยทางสู่รอบชิงชนะเลิศโซนเหนือ ที่สุดปลายทาง แม้สุดท้ายไม่อาจต้าน “คาวบอยแม่โจ้” แม่โจ้ ยูไนเต็ด อีกทีมเต็งที่ฟอร์มทีมมาหลายปีได้ ทว่าสุดท้ายแล้วบทพระรอง ก็พอเพียงกับตั๋วเลื่อนชั้นสู่ไทยลีก 4 โซนเหนือในที่สุด

 

คุณปิยะ เล่าให้ SPSTH ฟังต่อว่า “พอเราทราบได้เล่น T4 ในลีกอาชีพ เรื่องสนามทำคลับไลเซนซิ่ง กลับมานั่งคุยกันถึงสนามที่จะใช้ได้ในพิษณุโลก ซึ่งมีเกณฑ์ผ่านด้วยกันแค่ 2 สนาม ก็คือ สนามมหาลัยนเรศวร กับ สนาม มหาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ด้วยสภาพสนาม ระยะทาง หลายๆ อย่าง เรามองว่าสนามมหาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เหมาะกับเรามากกว่าในปีแรก ก็เลยเข้าไปคุยกับผู้ใหญ่ ในมหาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เพื่อทำ MOU ร่วมกัน ดูการพัฒนานักเตะ มหาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ร่วมไปกับนักเตะของเราด้วย และก็ขออนุญาตในการใช้สนามแข่งสนามซ้อม และก็เข้าไปคุยในเรื่องการปรับปรุงสนามเพื่อให้พร้อม กับการแข่งขันไทยลีก 4 การ ร่วมพัฒนานักเตะด้วยกัน การศึกษา ให้นักเตะในทีม และ มีการเซ็นสัญญานักเตะของมหาลัย พิบูลสงคราม ด้วย เป็นการผลักดัน นักศึกษา เป็นนักเตะอาชีพในอนาคต”

 

เมื่อขึ้นสู่ลีกอาชีพแล้วบอร์ดบริหารไม่ได้มองว่าถึงจุดอิ่มตัวเพียงเท่านี้ แม้สนามมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม หรือ "สนามกีฬาพระองค์ดำ" นั้นจะอยู่ใกล้ อ.วัดโบสถ์ เพียงชั่วเวลาเดินทางไม่เกินครึ่งชั่วโมง และห่างจากตัว อ.เมือง ไม่เกิน 20 นาที ทีมพร้อมที่จะวางรากฐานเพื่อความยั่งยืนต่อไป ด้วยปัจจัยสำคัญคือสนามเหย้า ทีมวัดโบสถ์ ซิตี้ มีพื้นที่ในใจ ที่จะเนรมิตรังเหย้าของตัวเองไว้เรียบร้อยแล้ว อันเป็นที่ดินของญาติทีมงานสโมสรเอง

 

ตอนนี้มีที่ดินอยู่แปลงหนึ่ง อยู่ที่อำเภอวัดโบสถ์ ทำสัญญาเช่าระยะยาว พื้นที่ 16 ไร่ ถ้ามีโอกาส มีทุนทรัพย์ ก็อยากจะซื้อขาด เรามีแผนกันตั้งแต่ก่อนทำทีมฟุตบอลแล้วว่า อยากทำฟุตบอลสเตเดียม ในพิษณุโลก สักที่หนึ่ง นี่ก็มีการออกแบบ วางแผน ก็ไม่ได้เป็นสนามที่ใหญ่โตอะไรมากนัก ก็น่าจะประมาณลีกทูของอังกฤษ คือมีอัฒจันทร์ครบทุกด้าน ไม่มีลู่วิ่ง มีห้องครบ ก็เพื่อให้มันเป็นมาตรฐาน จะได้ใช้ในการแข่งขัน ที่สมาคมกำหนด” คงต้องรอติดตามกันว่าในอนาคตอันใกล้สโมสรที่หยั่งรากจากความบ้าบอลเข้าเส้นจะเดินหน้าไปในทิศทางใด แน่นอนว่าอีกปัจจัยในกระทบชิ่งต่อทิศทางดังกล่าวนั่นคือผลงานในสนามเป็นสำคัญ

 

ผู้บริหาร ที่ล้วนเกิดมาจากความเป็นแฟนคลับพิษณุโลก เอฟซี และทีมงานโค้ชที่ล้วนเกิดมาจากการเป็นนักเตะพิษณุโลก เอฟซี ทำให้ทุกคนเข้าใจดีกว่าครั้งหนึ่งเราขาดอะไร เราต้องการอะไร และเราต้องทำอะไร วิถีฟุตบอลจะเดินไปด้วยกันกับวิถีคนเชียร์ฟุตบอลได้อย่างดี พวกเขาเชื่ออย่างนั้น

 

เมื่อทีมที่สร้างจากแฟนคลับก้าวสู่ลีกอาชีพ ประจวบเหมาะพอดิบพอดีกับ พิษณุโลก เอฟซี ได้ “เฮียทิ้ว” กลับมาทวงคืนความยิ่งใหญ่ นี่ยังไม่นับรวมกับบรรดา อุตรดิตถ์, น่าน, นครแม่สอด ที่ต่างมีเป้าหมายที่ปลายทางเลื่อนชั้น ... แค่คิดก็สนุกแทนเหล่าแฟนคลับเมืองพิษณุโลกแล้ว